ประวัติ ของ พระธรรมพัชรญาณมุนี (ฌอน ชยสาโร)

การศึกษา

พระธรรมพัชรญาณมุนี เกิดวันที่ 7 มกราคม 2501 เกาะไอล์ออฟไวต์ ประเทศอังกฤษ เมื่อยังเล็กท่านมีสุขภาพไม่ดี มีอาการหอบหืด แม้จะต้องหยุดโรงเรียนบ่อย แต่ก็ได้ใช้เวลาในการศึกษาด้วยตนเอง ด้วยความเป็นคนที่ช่างคิด ช่างค้นคว้าจึงมีผลการเรียนที่ดีเยี่ยมจนบิดามีความหวังให้เข้าสอบชิงทุนเพื่อเรียนต่อในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในประเทศอังกฤษ แต่สิ่งที่สนใจจริงแล้วก็คืออะไรคือสิ่งสูงสุดที่เราจะได้จากการเป็นมนุษย์ อะไรคือความจริงสากลที่ไม่ขึ้นอยู่กับสมมุติของแต่ละสังคม ทำไมคนเราอยากจะอยู่อย่างเป็นมิตรแต่กลับรบราฆ่าฟันกันอยู่เรื่อยไป

ทั้งนี้ ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2554 ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ประกาศว่า พระชยสาโรภิกขุ เป็นพระเถระที่ได้บำเพ็ญหิตานุหิตประโยชน์แก่สังคม ประเทศชาติ พระพุทธศาสนา และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเป็นอเนกประการ ควรแก่การยกย่องประกาศเกียรติคุณ สภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ถวายปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาธรรมนิเทศ เพื่อประกาศเกียรติคุณให้ปรากฏไพศาล เป็นทิฏฐานุคติแก่อนุชนสืบไป

เกียรติคุณอื่นที่ได้รับ ท่านได้รับรางวัลการส่งเสริมการศึกษาเพื่อสันติภาพ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2549 และได้รับการยกย่องเชิดชูเป็นผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ประจำปี 2553 จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรม

ประกาศเกียรติคุณ ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2554 จากสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

การแสวงหาสัจธรรม

เมื่อไม่มีบุคคลใดสามารถให้คำตอบแก่ท่านได้ ท่านจึงเริ่มอ่านหนังสือต่างๆมากมายหลากหลาย จนกระทั่งพบคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธาว่าเป็น "สัจธรรมความจริง" ที่กำลังแสวงหาอยู่ จึงสนใจการฝึกจิตและศึกษาหาความรู้ทางพุทธศาสนาตั้งแต่อยู่ในวัยรุ่น ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญให้ท่านเริ่มทำงานเก็บเงินและออกเดินทางหาประสบการณ์ในประเทศต่างๆ อาทิ ประเทศอิหร่านซึ่งลำบากมาก ถึงขนาดที่ว่าเคยโดนซ้อม แต่ท่านก็ไม่ย่อท้อจนมีคนชวนท่านไปอยู่ที่บ้านเพื่อให้สอนภาษาอังกฤษให้แลกกับการให้ที่พักและอาหาร หรือเมื่อครั้งท่านไปประพฤติตนเป็นฤๅษีที่อินเดีย แต่สุดท้ายก็มีเหตุจากปัจจัยภายนอกทำให้ท่านต้องเดินทางกลับ ท่านเดินทางไปทั่ว จนแน่ใจว่าการศึกษาและปฏิบัติธรรม อันเป็นหนทางที่ต้องการแทนการเรียนต่อในมหาวิทยาลัย โดยท่านใช้เวลาค้นหาสิ่งที่ท่านต้องการตั้งแต่อายุ 17 ปี ใช้เวลา 2 ปี จนเมื่อ พ.ศ. 2521 ท่านได้พบและเริ่มปฏิบัติกับพระอาจารย์สุเมโธ (พระชาวต่างชาติรูปแรกที่เป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อชา สุภทฺโท) ที่วิหารแฮมสเตด ประเทศอังกฤษ และได้ถือเพศเป็นอนาคาริก (ปะขาว) อยู่กับท่านพระอาจารย์สุเมโธ ถือศีล 10 เป็นเวลา 1 พรรษา แล้วเดินทางมายังประเทศไทย

ชีวิตในร่มกาสาวพัสตร์

แม้ว่าท่านจะได้ปฏิบัติมาบ้างเมื่ออยู่กับพระอาจารย์สุเมโธมาแล้วก็ตาม แต่หลวงพ่อชาก็ยังไม่บวชให้ ท่านรับการฝึกฝนเคี่ยวเข็ญด้วยอุบายต่าง ๆ จากหลวงพ่อชา ท่านเล่าให้ฟังว่า เมื่อหลวงพ่อชาถามว่า อยากบวชไหม หากบอกว่า อยาก ท่านก็จะตอบว่า ยังไม่ให้บวช จนกว่าจะตอบว่า "แล้วแต่หลวงพ่อ" ท่านจึงได้บวช เมื่อ พ.ศ. 2523 โดยอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ที่วัดหนองป่าพง โดยมีพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) เป็นพระอุปัชฌาย์[2]

ก่อนเดินทางมาประเทศไทย ท่านได้ตั้งใจว่าจะอยู่ที่วัดหนองป่าพง ให้ครบ 5 ปี โดยไม่มีเงื่อนไขเพื่อศึกษาปฏิบัติธรรม เมื่อมาพบหลวงพ่อชา ก็เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในปฏิปทาและความเป็นครูที่มีทั้งเมตตา และปัญญาในการสอนอย่างลึกซึ้ง จึงสามารถทนต่อความยากลำบากในการปรับตัวให้เข้ากับการใช้ชีวิตแบบพระวัดป่า ที่เข้มงวดในวินัย และการฝึกปฏิบัติตามรอยพระพุทธเจ้า และการอยู่ร่วมกับคณะสงฆ์ชาวไทยจนเกิดความก้าวหน้าและเบิกบานในธรรม แนวการสอนของหลวงพ่อชาเน้นการปฏิบัติการรักษาศีล และข้อวัตรปฏิบัติ ความอดทน ความเพียร การใคร่ครวญหลักธรรม และน้อมมาสู่ใจให้เฝ้าสังเกตจนรู้ทันอารมณ์ของตนเอง และสามารถใช้สติปัญญาในการสร้างประโยชน์ตน และประโยชน์ผู้อื่นพร้อมกันไป ทำให้ท่านผูกพันกับหลวงพ่อชามาก

เหตุที่เลือกยึดหลักเถรวาท เพราะท่านมีความตั้งใจ ต้องการจะทุ่มเทกาย ถวายชีวิตให้กับพระพุทธศาสนา เพื่อบรรลุมรรคผลนิพพานและที่ชอบฝ่ายเถรวาท เพราะถูกจริต ตรงไปตรงมา ไม่มีพิธีรีตองมากมายเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เข้ามาเกี่ยวกับกาย กับใจ กับทุกข์ การที่จะอยู่กับป่ากับ ธรรมชาติ อย่างที่สาวกพระพุทธเจ้าเคยปฏิบัติในสมัยพุทธกาล

แม้ว่าท่านจะเป็นชาวต่างชาติแต่เรื่องภาษาไม่ใช่อุปสรรค เพราะท่านเชื่อว่าภาษาพื้นฐาน คือบาลีสันสกฤต ซึ่งทั้งคนไทยและต่างชาติก็ต้องเริ่มมาเรียนรู้เหมือนกัน ภาษามีความยากพอกัน แต่คนไทยอาจจะง่ายกว่าที่ศัพท์ไทยมีบาลีสันสกฤต ท่านจึงต้องพยายามและขยันมากหน่อย แต่ก็ไม่นาน โดยท่านใช้วิธีการท่องตัวอักษรจนกระทั่งอ่านได้ จากนั้นก็อยู่คนเดียว ค่อย ๆ อ่าน ดูศัพท์ในดิกชันนารี อีกทั้งอยู่กับครูบาอาจารย์ ไม่ได้เรียนทฤษฎีอะไรมากมาย ก็ปฏิบัติไปด้วย มีการพิสูจน์ไปด้วย ได้ปรึกษาหารือกับครูบาอาจารย์ ได้อ่านได้ฟัง พูดคุยกับพระด้วยกัน ทั้งหมดเป็นชีวิตของท่าน ท่านเองก็ต้องคลุกคลีกับสิ่งนี้อยู่แล้วจึงไม่ยากเท่าไร

ปัจจุบันพระอาจารย์ชยสาโรพำนักอยู่ ณ สถานพำนักสงฆ์บ้านไร่ทอสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา[3]

ในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2563 พระธรรมพัชรญาณมุนีได้ถวายพระธรรมเทศนาบนธรรมาสน์ เฉพาะพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์[4]

แหล่งที่มา

WikiPedia: พระธรรมพัชรญาณมุนี (ฌอน ชยสาโร) http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-sty... http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/... http://www.thawsischool.com/dhamma-news.html http://dhamma.vayoclub.com/index.php?topic=307.0 http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/B/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/B/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/B/... https://web.archive.org/web/20100806124627/http://... https://web.archive.org/web/20201021190417/http://...